มนุษย์เรามีความหลงใหลในแสงสีสวยงามมานับแต่โบราณ ความสว่างในยามค่ำคืนจากแสงจันทร์และแสงของดวงดาวที่พร่างพราวบนท้องฟ้าก็มักจะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมให้แก่ผู้คนได้อยู่เสมอ บางครั้งเราก็พบว่าแสงประกายระยิบระยับไม่ได้มาจากท้องฟ้าห่างไกลแต่อย่างใด แต่มาจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่คอยบินไปบินมารอบข้าง แสงประกายสีทองที่กะพริบไปมาของแมลงปีกแข็งอย่างหิ่งห้อยช่วยทำให้ค่ำคืนธรรมดามีความมหัศจรรย์ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ
แสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีจากสารที่มีชื่อว่า ลูซิเฟอริน (Luciferin) ซึ่งอยู่ในอวัยวะที่ช่วยในการสร้างแสงรวมเข้าด้วยกันกับออกซิเจน ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้จะต้องใช้ ลูซิเฟอเรส (Luciferase) เป็นเอนไซม์สำคัญที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารที่ให้พลังงานแสงคือ อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (AdenosineTriphosphate) การเปล่งแสงของหิ่งห้อยจะมีลักษณะของแสงที่ปราศจากความร้อน พวกหิ่งห้อยใช้แสงของตนเองในการสื่อสารระหว่างกันและกัน ช่วยดึงดูดเพื่อให้เกิดการจับคู่ผสมพันธุ์ และยังใช้แสงสว่างนี้ในการเตือนภัยกันได้อีกด้วย
แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงที่มีความสวยงาม น่าหลงใหล เรามักจะเห็นแสงของหิ่งห้อยในเวลากลางคืนมากกว่าเวลากลางวัน นั่นไม่ใช่เพราะว่าแสงอาทิตย์ได้กลบแสงของหิ่งห้อยจนหมดสิ้นไปแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะพวกหิ่งห้อยมักจะกะพริบแสงในที่มืดเสียมากกว่า หากใครสักคนเคยลองจับหิ่งห้อยตัวน้อยไว้ในแก้วใสในตอนกลางคืนดู จะเห็นว่าช่วงท้องส่องประกายแสงเป็นจังหวะได้อย่างน่าทึ่งแค่ไหน แต่พออยู่พาไปในที่สว่างแล้วกลับนิ่งเฉยไม่ส่งแสงแต่อย่างใด นั่นคงเป็นเพราะแสงสว่างรอบข้างทำให้หิ่งห้อยไม่สามารถสื่อสารด้วยแสงกับเพื่อนรอบข้างของพวกเขาได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้แสงของตนให้เปลืองพลังงานนั่นเอง