สิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกล้วนแต่ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากสิ่งต่างๆ รอบข้าง เพื่อช่วยให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญต่อกระบวนการสร้างพลังงานของสิ่งมีชีวิตก็คือ การหายใจแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งนั่นหมายความว่า สิ่งมีชีวิตนับล้านบนโลกที่มีการหายใจแบบนี้จะต่างก็มีความต้องการที่จะใช้ออกซิเจนเพื่อมีชีวิตอยู่เช่นกัน ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วโลกเราจะหาออกซิเจนมาจากไหนได้บ้างล่ะ ออกซิเจนบนโลกมาจากอะไรกันแน่?
สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อพูดถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ คงหนีไม่พ้นผืนป่ากว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยพืชและสัตว์มากมายหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้โลกของเรามีออกซิเจนขึ้นมาได้ และไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของคำถามข้อนี้เลย ป่ามีส่วนช่วยในการผลิตออกซิเจนน้อยมาก ที่เหนือความคาดคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ แหล่งผลิตออกซิเจนบนโลกของเราส่วนใหญ่มาจากมหาสมุทร! นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนเกิดความประหลาดใจเป็นอย่างมาก หลายคนคงจะอยากรู้คำตอบแล้วว่า มหาสมุทรผลิตออกซิเจนได้อย่างไร แน่นอนว่าเราไม่ได้หมาถึงมหาสมุทรจริงๆ หรอกนะที่สามารถผลิตออกซิเจนขึ้นมาได้ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่เราเรียกกันว่าแพลงก์ตอนต่างหาก
สิ่งมีชีวิตที่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ไดอะตอม (Diatom) พวกเขาจัดเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทั้งหลาย ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม อีกทั้งยังพบได้ตามก้อนหิน หน้าดิน หรือเกาะตามพืชน้ำและสาหร่ายชนิดอื่นๆ มักดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอนพืช ความแตกต่างจากแพลงก์ตอนพืชกลุ่มอื่นคือมีลักษณะลวดลายของผนังเซลล์ที่สวยงาม ช่วยผลิตออกซิเจนได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
สาหร่ายไดอะตอมถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อระบบนิเวศมาก สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะต้องพึ่งพาอาศัยจากพวกเขา ในเมื่อเรารู้กันแล้วว่ามหาสมุทรสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างไร พวกเราก็ควรดูแลช่วยสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของมหาสมุทรให้ดีอยู่เสมอ เพราะพวกเขาทำให้เราและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกมีออกซิเจนไว้ใช้กันได้จนถึงทุกวันนี้