โลกของเราเกิดขึ้นมาเมื่อหลายล้านปีก่อน ในตอนเริ่มแรกนั้นสิ่งมีชีวิตค่อยๆ วิวัฒนาการตัวเองขึ้นมาจากขนาดที่เล็กน้อยเกินกว่าตาเปล่าของคนเราจะมองเห็น การเติบโตเป็นไปอย่างช้าๆ สืบเนื่องต่อกันมาอย่างยาวนานนับล้านปี เมื่อเวลาผ่านไปจึงได้เติบใหญ่ในลักษณะที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ทั้งพืช ทั้งสัตว์ มีชีวิตอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันและกันในธรรมชาติ อาจมีบ้างที่สูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา จนกระทั่งหลงเหลือเท่าที่พบเห็นกันในปัจจุบัน ถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกสนใจว่า แล้วสิ่งมีชีวิตใดกันล่ะเกิดมาเป็นอันดับแรกสุดของโลก?
สิ่งมีชีวิตชนิดแรกของโลก คือ ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีโครงสร้างเซลล์คล้ายกับแบคทีเรีย ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส มีความแตกต่างจากแบคทีเรียตรงที่ไซยาโนแบคทีเรียนั้นมีสารสีคลอโรฟิลล์ เอ (Chlorophyll a) ทำให้สามารถรับพลังงานจากการสังเคราะห์ด้วยแสง อีกทั้งยังสามารถสร้างออกซิเจนผ่านกระบวนการนี้ได้อีกด้วย เหตุนี้เองโลกของเราจึงเต็มไปด้วยออกซิเจนที่ใช้หายใจ และกลายเป็นหนึ่งในแก๊สที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมาจนถึงทุกวันนี้
นักวิทยาศาสตร์นับว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้คือสิ่งมีชีวิตชนิดแรกของโลก เนื่องจากมีการค้นพบฟอสซิลที่มีอายุประมาณ 3,500 ล้านปี ในฟอสซิลนี้มีซากของไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่ทำให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของโลกเมื่อหลายล้านปีก่อนได้ กล่าวคือ พวกเขามีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างเมือกหุ้มเซลล์ไว้ทำให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรง สร้างเม็ดสีป้องกันแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ และภายในเซลล์ยังมีแก๊สแวคิวโอ (Gas Vacuole) ช่วยให้สามารถลอยตัวไปยังสภาวะที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตมากที่สุด ไซยาโนแบคทีเรียจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทุกระบบนิเวศ
หากพูดถึงปัจจุบัน พวกเขาก็ยังคงมีชีวิตอยู่และมีชื่อที่ผู้คนรู้จักคุ้นเคยกันดีว่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เราสามารถพบพวกเขาได้โดยทั่วไปในแหล่งที่มีความชื้น ทั้งบนผิวดินและในดิน ทะเลทราย น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย แม้แต่ตามน้ำพุร้อนหรือหิมะก็ตาม บางครั้งก็พบอยู่ในลักษณะตะไคร่น้ำได้อีกด้วย ไซยาโนแบคทีเรียมีอยู่มากมายหลายชนิด นับว่าเป็นผู้ผลิตที่สำคัญต่อระบบนิเวศมาก นอกจากจะช่วยในการผลิตออกซิเจนให้แก่โลกของเราแล้ว บางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศ (N2) แล้วเปลี่ยนมาเป็นธาตุอาหารแก่พืช ได้แก่ ไนเตรต (NO3) และแอมโมเนียม (NH4) (ไนโตรเจนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อพืชมาก แต่พืชไม่สามารถนำไนโตรเจนในรูปของแก๊สมาเป็นอาหารได้)
ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตที่สำคัญขนาดนี้ แต่หลายคนคงทราบกันดีกันว่าสิ่งมีชีวิตนี้นั้นความน่ากลัวแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน ไซยาโนแบคทีเรียบางสายพันธุ์มีการผลิตสารพิษที่เป็นอันตราย ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาทของคนและสัตว์ อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว การดำรงอยู่พวกเขามีผลต่อความสมบูรณ์ระบบนิเวศของโลกทั้งในด้านประโยชน์และโทษมากมาย จึงนับได้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดแรกของโลกนี้มีความแข็งแกร่งที่ไม่ธรรมดา ถึงแม้มนุษย์เราจะฉลาดล้ำลึกแค่ไหน เราก็จะประมาทสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างเช่นไซยาโนแบคทีเรียไปไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว