สายฝนทำให้โลกของเราสดชื่น ชุ่มฉ่ำ ช่วยให้ต้นไม้ใบหญ้าได้เติบใหญ่สวยงาม และยังมอบความเย็นสบายให้แก่ผู้คน บางครั้งที่ฝนตกเราก็พบว่าท้องฟ้ามืดครึ้มไม่สดใส มีแต่เมฆดำปกคลุมไปทั่ว รู้สึกขมุกขมัวอยู่ตลอดเวลา แต่ในบางคราท้องฟ้าในวันฝนตกกลับมีแสงอาทิตย์ส่องแสงสดใส กลับปรากฏแสงสีสวยงามถึง 7 สีเรียงรายกัน ความมหัศจรรย์ของธรรมชาตินั้นชวนให้คิดสงสัยเหลือเกินว่าสีสันที่สวยงามเหล่านี้มาจากไหน แสงสีที่เราเรียกว่า รุ้งกินน้ำเกิดจากอะไร?
รุ้งกินน้ำ คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการหักเหของแสง สามารถพบได้ในวันที่สายฝนโปรยปราย และยังสามารถพบสีรุ้งสวยงามนี้ได้ตามบริเวณน้ำตกต่างๆ ด้วย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเกิดแสงของรุ้งกินน้ำเกิด คือ แสงอาทิตย์ สำหรับบางคนอาจจะยังงุนงงสงสัยอยู่ว่า แสงอาทิตย์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้จะทำให้เกิดสีสันของรุ้งกินน้ำได้อย่างไร ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักกับแสงอาทิตย์ที่แท้จริงก่อน แสงอาทิตย์นั้นเป็นการรวมตัวของสีหลายสีเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดสีสันต่างกันได้
เมื่อแสงเดินทางผ่านตัวกลางที่มีลักษณะเป็นปริซึม เช่น สายฝน การเดินทางของแสงผ่านตัวกลางเหล่านี้จะทำให้เกิดการหักเหของแสงขึ้น เราจึงสามารถเห็นสีสันหลากหลายที่ประกอบกันเป็นสีของแสงอาทิตย์จนเห็นแสงสีรุ้ง 7 สี ดังนั้น ในวันที่ฝนตกลงมาพร้อมกับมีแสงของดวงอาทิตย์สาดส่อง จึงเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้มองเห็นรุ้งกินน้ำได้ สำหรับคำถามที่ว่าสายรุ้งเกิดจากอะไร คำตอบคือ สายรุ้งเกิดจากหยดน้ำและแสงอาทิตย์ที่เกิดการหักเหแสงนั่นเอง
สีสันที่สวยงามของรุ้งกินน้ำ ได้แก่ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ประเทศไทยจะนับสีของสายรุ้งเป็น 7 สี แต่สำหรับบางประเทศอาจมีเกณฑ์การนับสีของสายรุ้งที่แตกต่างกันไป บางประเทศอาจนับว่ารุ้งมี 6 สี โดยรวมสีครามกับสีน้ำเงินเป็นสีเดียวกัน บางครั้งเราจึงสามารถพบเห็นธงสายรุ้งที่มีแถบสีน้อยกว่าแบบที่เราคุ้นเคย ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะแบบไหนก็ยังเป็นสายรุ้งอยู่ดี
สายรุ้งแสนสวยที่เราพบเห็นกันเป็นประจำในช่วงกลางวันนั้น เรายังสามารถพบเห็นในเวลากลางคืนได้อีกด้วย แสงสว่างที่ทำให้เกิดรุ้งในยามค่ำคืนคือแสงสว่างจากดวงจันทร์ สายรุ้งเหล่านี้ถูกขนานนามว่า รุ้งแสงจันทร์ หรือ รุ้งจันทรา (Moonbow) 🌙