โลกที่เราอยู่อาศัยนั้นมีการหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าตอนนี้โลกก็ยังคงกำลังหมุนอยู่ แต่ก็ไม่มีใครรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวเหล่านั้นเลย ครั้งแรกที่ผู้เขียนรู้ว่าโลกของเรามีการหมุนรอบตัวเอง ก็เล่นเอาคิดไปทั่วเลยล่ะว่า ตอนที่เรากำลังนอนอยู่นั้น โลกของเราจะหมุนเราไหลขึ้นไปอยู่บนฟ้ารึเปล่า แล้วเตียงจะหล่นมาทับร่างเราไหม หรือที่เตียงไม่มาทับเราเป็นเพราะพ่อกับแม่ยึดขาเตียงไว้กับพื้นกันแน่? ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดไปแล้วก็ยังขำตัวเองจนถึงทุกวันนี้ วันนี้ก็เลยมาไขข้อข้องใจของคำถามว่า ทำไมโลกหมุนรอบตัวเอง?
โลกของเราเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มแก๊สและฝุ่นละอองที่หมุนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ จากนั้นจึงเกิดแรงโน้มถ่วงที่ศูนย์กลาง ทำให้กลุ่มแก๊สยุบตัวแล้วเกิดโมเมนตัมจากการชนกัน แก๊สไฮโดรเจนที่ตกลงมาจากแรงโน้มถ่วงที่อยู่ในระบบสุริยะจำเป็นต้องรักษาโมเมนตัมเชิงมุมไว้ โลกจึงเกิดการหมุนรอบตัวเองขึ้น
ทิศทางการหมุนของโลกขึ้นอยุ่กับแรงโมเมนตัมเชิงมุมที่เกิดจากธาตุเริ่มแรกของโลกอย่างธาตุไฮโดรเจน อะตอมเดี่ยวของไฮโดรเจนทุกตัวมีโมเมนตัมของตัวเอง เมื่อมันลอยผ่านความว่างเปล่า อะตอมเหล่านี้จะดึงดูดกัน แล้วพยายามเฉลี่ยโมเมนตัมไว้ให้คงที่ แต่โมเมนตัมที่เกิดขึ้นไม่ได้เท่ากันทุกทิศทาง การจะเฉลี่ยโมเมนตัมให้ได้เท่ากันทุกด้านอย่างสมบูรณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย (หากทุกด้านมีแรงโมเมนตัมเท่ากันจริง โลกของเราอาจจะหยุดนิ่งก็เป็นได้) แรงโมเมนตัมด้านที่มากกว่าด้านอื่นส่งผลให้โลกหมุนไปทางทิศนั้น ดวงดาวอื่นๆ ก็หมุนรอบตัวเองด้วยเหตุผลเดียวกัน
ระบบสุริยะที่เราอยู่นั้นมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์ร่วม เนื่องจากถูกสร้างขึ้นมาจากระบบเดียวกันทั่วจักรวาล การหมุนของดาวเคราะห์จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยแรงความเฉื่อย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ส่วนใหญ่ดวงดาวจะหมุนไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการก่อตัวของพวกมันนั้นเกิดมาเนบิวลาสุริยะเดียวกัน แต่ก็ใช่ว่าดวงดาวทุกดวงจะหมุนไปทิศทางเดียวกันหมด ดาวบางดวงก็หมุนในทิศทางที่ต่างกันไปได้เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าการกำเนิดของดวงดาวเหล่านั้นต่างจากดาวดวงอื่นนั่นเอง